วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผัก-ผลไม้บำรุงหัวใจ

 

"สารสี ม่วง-แดง" หรือ แอนโทไซยานิน

พบในองุ่น ลูกพรุน แอปเปิ้ลแดง สตรอเบอรี่ ชมพู่มะเหมี่ยว บลูเบอรี่ มะเขือม่วง และกะหล่ำปลีสีม่วง จะช่วยขยายเส้นเลือด มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและอัมพาต และยังช่วยบำรุงการทำงานของสมอง




"สารสีแดง" หรือไลโคพีน

จะมีมากในแตงโมและมะเขือเทศ ส่วนสารสีแดงในลูกทับทิม บีทรูท และแครนเบอร์รี่ นั้นก็คือ สารเบต้าไวซิน โดยสารสีแดงทั้งสามชนิดนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้



"สารสีส้ม" หรือเบต้าแคโรทีน

ซึ่งเป็นเม็ดสีเหลืองส้มที่มีอยู่มากในมะละกอ ฟักทอง แคนตาลูป มะม่วง แครอต รวมทั้งผลไม้จำพวกแตงต่างๆ ผักผลไม้ในกลุ่มนี้นอกจากจะช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ช่วยบำรุงสายตาแล้ว ยังช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ด้วย

 


"สารสีส้ม-เหลือง"

พบได้มากในส้มเขียวหวาน และลูกพีช ช่วยบำรุงหัวใจและกระเพาะอาหาร รวมทั้งลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งด้วย



อาหารบำรุงหัวใจ


        ปัจจุบัน โรคหัวใจยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แม้พันธุกรรมจะเป็นความเสี่ยงที่เปลี่ยนไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คืออาหาร การออกกำลังกาย และงดสูบบุหรี่ เราควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ว่ามีความผิดปกติของหัวใจหรือไม่ เพราะหากเป็นโรคหัวใจแล้วไม่ดูแลระมัดระวัง อาจทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้ และควรระมัดระวังในเรื่องของอาหารเป็นพิเศษควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งดอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้ง่าย ควรกินอาหารจำพวกแป้งไม่ขัดขาว และผักผลไม้ ทั้งนี้มีหลักในการเลือกทานอาหารบำรุงหัวใจ ดังนี้ค่ะ         


1. ควรกินอาหารประเภทแป้งอย่าง ขนมปัง ซีเรียล ข้าว และพาสต้า ในอัตรา 6-11 ส่วนต่อวัน ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกกินแบบที่เป็นธัญพืช อย่าง ข้าวโอ๊ตบดหยาบๆ ขนมปังโฮลวีต หรือข้าวกล้องแทนแป้งที่ผ่านกระบวนการมาแล้วจะดีกว่าค่ะ เพราะธัญพืชจะถูกย่อยได้ช้ากว่า ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินที่เพิ่มขึ้น สามารถลดลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอินซูลินได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ไม่หิวจัด และป้องกันโรคเบาหวานประเภท 2 ได้อีกด้วย 


          2. ในหนึ่งวันควรกินผักอย่างน้อย 3-5 ส่วน และผลไม้ 2-4 ส่วน เพราะการที่กินผักและผลไม้มากๆ จะยิ่งช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ แถมยังช่วยป้องกันคุณจากโรคร้ายต่างๆ อย่างมะเร็ง และความดันเลือดต่ำอีกด้วย จำกัดปริมาณนมและผลิตภัณฑ์ที่มาจากนมอย่าง โยเกิร์ตและชีส ให้อยู่ที่ 2-3 อย่างต่อวัน เพราะนมและผลิตภัณฑ์ที่มาจากนมนั้นจะมีไขมันอิ่มตัวอยู่มาก แต่ถ้าหากจะดื่มนม ควรเลือกแบบที่ขาดมันเนยหรือโลว์แฟตค่ะ

          3. ควรกินโปรตีนจากปลา เนื้อหมู ไข่ และถั่ว ประมาณ 2-3 ส่วน ต่อวัน เพราะการกินโปรตีนจากเนื้อปลาเป็นประจำจะสามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ อีกทั้งโปรตีนจากถั่วจะประกอบด้วยโปรตีน ไฟเบอร์ วิตามิน และเกลือแร่ ซึ่งดีต่อหัวใจมากๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับโปรตีนจากเนื้อไก่และไก่งวงนั้น ถึงแม้จะมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่น้อย แต่ในระยะยาวจะสามารถไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลให้สูงขึ้นได้ค่ะ 

          4. ปิดท้ายด้วยไขมัน ซึ่งในแต่ละวันควรกินไขมันด้วยแต่ในปริมาณที่น้อยมากๆ ซึ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ส่วนมากจะมาจากผัก เช่น มะกอก ถั่วเหลือง คาโนลา ข้าวโพด และทานตะวัน หรือจากสัตว์อย่างปลาแซลมอน ซึ่งไขมันเหล่านี้จะช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่ดีและช่วยป้องกันโรคหัวใจวายได้ค่ะ

หมั่นคอยดูแล"หัวใจ"


1. เทคนิคเปลี่ยนหัวใจ (Heart transplant)
การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ทำในสิ่งที่รู้ว่าอีกฝ่ายไม่ชอบ..ถ้าทั้งสองฝ่ายรู้จักคิดถึงหัวอกกันและกันสม่ำเสมอ จะไม่มีความบาดหมางใดๆมากวนใจ

2. เทคนิคการทำบอลลูน (Heart Balloon)
ชีวิตเราต้องเจอเรื่องไม่ดีแทบทุกวัน.. เทคนิคนี้สอนให้เรารู้จักปล่อยวาง สิ่งร้ายๆที่เกิดชึ้นแล้วก็แก้ปัญหาเสีย เรียนรู้จากประสบการณ์ แต่ไม่เก็บไว้ในใจข้ามปีข้ามชาติ รู้จักลอยตัวให้เบาสบายเหมือนลูกบอลลูน
3. นวดหัวใจด้วยการสัมผัส (touching)
การสบตากัน การแตะมือเบาๆ การกอดกัน ช่วยทำให้หัวใจมีสุขภาพดีมาก จากการทดสอบพบว่าการสัมผัสเบาๆ แต่อบอุ่นหัวใจวาบหวาม ดื่มด่ำ ช่วยทำให้ร่างกายเพิ่มสารเอนโดรฟิน สบายกายสบายใจขึ้นมาก
4. เพิ่มระดับความหวาน (Heart Glucose)
แปลกแต่จริง..ความหวานไม่มีผลเสียต่อหัวใจเหมือนต่ออวัยวะส่วนอื่นๆ จงเติมความหวานเข้าไปในหัวใจให้สูงเข้าไว้ เอ่ยคำว่ารัก ต่อคนรักบ่อยเท่าที่ต้องการ เชื่อเถิด กระทรวงสาธารณสุขรับรองมาแล้วว่าเทคนิคนี้ไม่มีอันตรายอย่างแน่นอน
5. ใส่ใจกับการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ติดเป็นนิสัย
หัวใจจะแข็งแรงได้นั้น เราจะต้องดูแลเรื่องการรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย โดยเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจหรือมีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ผัก  ผลไม้ อาหารที่มีไฟเบอร์สูง บวกกับโปรตีนที่ได้จากพืช แค่นี้ก็ช่วยทำให้หัวใจของคุณและคนที่คุณรักแข็งแรงไปได้พร้อมๆกันเลยค่ะ
6.ลดระดับไขมันในหลอดเลือด
เนื่องจากไขมันเป็นตัวที่จะไปสกัดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ดังนั้นขอแนะนำให้ลดอาหารประเภทไขมันสูง และที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกายด้วยนะคะ


วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรื่องของ “หัวใจ”/เอมอร คชเสนี







หน้าที่ของหัวใจ

หัวใจของคนเรามีขนาดโตกว่ากำปั้นเล็กน้อย มีลิ้นหัวใจ 4 ลิ้น ทำหน้าที่ปิดเปิดให้เลือดไหลผ่านเข้าออกไปในทิศทางเดียว โดยไม่มีการไหลย้อนกลับ ในคนปกติขณะพัก หัวใจจะบีบตัวประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ และประมาณ 80-100 ครั้งต่อนาทีในเด็ก ขณะออกกำลังกายหัวใจจะบีบตัวเร็วขึ้น บางครั้งอาจถึง 140-180 ครั้งต่อนาที กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้โดยอาศัยพลังงานออกซิเจน สารอาหาร เกลือแร่ และวิตามินจากเลือดที่มาหล่อเลี้ยง ไหลผ่านมาตามหลอดเลือดหัวใจ เรียกว่าหลอดเลือดโคโรนารี่ ถ้าหลอดเลือดตีบ กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือด หากอุดตันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้นต้องปิดและเปิดได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าเปิดไม่เต็มที่จะเกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบ เลือดไหลผ่านไม่สะดวก และถ้าปิดไม่สนิท เลือดจะไหลย้อนทาง เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจ แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ โดยดูจากอาการต่างๆ เช่น เจ็บหน้าอก ใจเต้น ใจสั่น เป็นลม หอบ เหนื่อยและบวม สิ่งที่พบจากการตรวจร่างกาย เช่น ความดันโลหิตผิดปกติ ชีพจรผิดปกติ หลอดเลือดผิดปกติ หัวใจผิดปกติ และจากการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีพิเศษ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์หัวใจและปอด การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย เป็นต้น

โรคหัวใจที่สำคัญ ได้แก่

1.โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง ถ้าความดันโลหิตสูงผิดปกตินานๆ หัวใจต้องทำงานหนักและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น ขนาดของหัวใจโตขึ้น เกิดภาวะหัวใจวาย มีอาการเหนื่อยง่าย หอบ เท้าบวม นอนราบไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง


2.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นเนื่องจากมีความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจเกิดจากการที่มีรูโหว่ที่ผนังภายในหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว หรือเกิดจากหลอดเลือดอยู่ผิดไปจากตำแหน่งปกติ

3.โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดขึ้นเนื่องจากมีการอุดตันในหลอดเลือดโคโรนารี่ที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการที่พบ ได้แก่ จุกแน่น เสียดแสบบริเวณทรวงอก เหงื่อออก เป็นลม ใจสั่น จนถึงเสียชีวิตแบบกะทันหัน การเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดโคโรนารี่ ถือเป็นภาวะวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน

4.โรคหัวใจรูห์มาติค พบในเด็กอายุ 7-15 ปี เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเบต้าฮีโมไลติค สเตร็ปโตคอคคัส ทำให้คออักเสบ ไข้สูง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ ถ้าได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกจะเกิดการอักเสบที่ข้อเข่า ข้อศอก และสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อบุหัวใจ และลิ้นหัวใจ ถ้ามีการอักเสบซ้ำหลายๆ ครั้ง จะเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่และหรือปิดไม่สนิท ทำให้ลิ้นหัวใจจะตีบแคบลงหรือรั่ว





การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ

1.การตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในหัวใจ และบันทึกออกมาไว้ในกระดาษ เพื่อวินิจฉัยโรคและภาวะผิดปกติของหัวใจ เช่น การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ภาวะหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ ขนาดและผนังหัวใจที่โตผิดปกติ เป็นต้น


2.การถ่ายภาพรังสีทรวงอก

การถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือที่เรียกว่าเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูขนาดของห้องหัวใจและลักษณะของเส้นเลือดระหว่างหัวใจและปอด ว่ามีความผิดปกติหรือไม่


3.การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย

โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากอัตราชีพจร ระดับความดันโลหิตและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บันทึกตลอดเวลาขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย โดยให้ผู้ป่วยเดินบนพื้นเลื่อนหรือสายพาน หรือถีบจักรยาน โดยผู้ป่วยจะต้องออกกำลังกายเพิ่มขึ้นไปตามมาตรฐานของการทดสอบ ข้อมูลที่ได้จะบอกให้ทราบถึงสมรรถภาพการทำงานของร่างกายและหลอดเลือด ความสามารถในการออกกำลังกายของแต่ละบุคคล เป็นต้น


4.การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง

อาศัยหลักของคลื่นเสียงที่ส่งไปจากเครื่องมือที่วางอยู่ภายนอก เมื่อไปกระทบกับหัวใจจะสะท้อนกลับมา และเครื่องจะแปลงสัญญาณเสียงนั้นให้เป็นสัญญาณภาพปรากฏในจอรับภาพ เพื่อดูโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือด ทิศทางการไหลของเลือด ตลอดจนการเคลื่อนไหวและการบีบตัวของหัวใจว่าปกติหรือไม่ ความดันโลหิตเป็นอย่างไร เป็นต้น


5.การตรวจสวนหัวใจ

เป็นการฉีดสารทึบรังสีและถ่ายภาพรังสี เพื่อดูความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ศึกษาการไหลเวียนของเลือด วัดความดัน และวัดปริมาณออกซิเจนในห้องหัวใจ แพทย์จะตรวจด้วยวิธีนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการตรวจด้วยวิธีอื่นยังไม่เพียงพอ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสวนหัวใจจะบอกสภาวะของหลอดเลือดว่าตีบที่บริเวณใดและตีบกี่เส้น เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยต่อไป