วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรื่องของ “หัวใจ”/เอมอร คชเสนี







หน้าที่ของหัวใจ

หัวใจของคนเรามีขนาดโตกว่ากำปั้นเล็กน้อย มีลิ้นหัวใจ 4 ลิ้น ทำหน้าที่ปิดเปิดให้เลือดไหลผ่านเข้าออกไปในทิศทางเดียว โดยไม่มีการไหลย้อนกลับ ในคนปกติขณะพัก หัวใจจะบีบตัวประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ และประมาณ 80-100 ครั้งต่อนาทีในเด็ก ขณะออกกำลังกายหัวใจจะบีบตัวเร็วขึ้น บางครั้งอาจถึง 140-180 ครั้งต่อนาที กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้โดยอาศัยพลังงานออกซิเจน สารอาหาร เกลือแร่ และวิตามินจากเลือดที่มาหล่อเลี้ยง ไหลผ่านมาตามหลอดเลือดหัวใจ เรียกว่าหลอดเลือดโคโรนารี่ ถ้าหลอดเลือดตีบ กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือด หากอุดตันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้นต้องปิดและเปิดได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าเปิดไม่เต็มที่จะเกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบ เลือดไหลผ่านไม่สะดวก และถ้าปิดไม่สนิท เลือดจะไหลย้อนทาง เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจ แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ โดยดูจากอาการต่างๆ เช่น เจ็บหน้าอก ใจเต้น ใจสั่น เป็นลม หอบ เหนื่อยและบวม สิ่งที่พบจากการตรวจร่างกาย เช่น ความดันโลหิตผิดปกติ ชีพจรผิดปกติ หลอดเลือดผิดปกติ หัวใจผิดปกติ และจากการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีพิเศษ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์หัวใจและปอด การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย เป็นต้น

โรคหัวใจที่สำคัญ ได้แก่

1.โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง ถ้าความดันโลหิตสูงผิดปกตินานๆ หัวใจต้องทำงานหนักและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น ขนาดของหัวใจโตขึ้น เกิดภาวะหัวใจวาย มีอาการเหนื่อยง่าย หอบ เท้าบวม นอนราบไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาเลี้ยง


2.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นเนื่องจากมีความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจเกิดจากการที่มีรูโหว่ที่ผนังภายในหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว หรือเกิดจากหลอดเลือดอยู่ผิดไปจากตำแหน่งปกติ

3.โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดขึ้นเนื่องจากมีการอุดตันในหลอดเลือดโคโรนารี่ที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการที่พบ ได้แก่ จุกแน่น เสียดแสบบริเวณทรวงอก เหงื่อออก เป็นลม ใจสั่น จนถึงเสียชีวิตแบบกะทันหัน การเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดโคโรนารี่ ถือเป็นภาวะวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน

4.โรคหัวใจรูห์มาติค พบในเด็กอายุ 7-15 ปี เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเบต้าฮีโมไลติค สเตร็ปโตคอคคัส ทำให้คออักเสบ ไข้สูง ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ ถ้าได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกจะเกิดการอักเสบที่ข้อเข่า ข้อศอก และสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อบุหัวใจ และลิ้นหัวใจ ถ้ามีการอักเสบซ้ำหลายๆ ครั้ง จะเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่และหรือปิดไม่สนิท ทำให้ลิ้นหัวใจจะตีบแคบลงหรือรั่ว





การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ

1.การตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในหัวใจ และบันทึกออกมาไว้ในกระดาษ เพื่อวินิจฉัยโรคและภาวะผิดปกติของหัวใจ เช่น การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ภาวะหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ ขนาดและผนังหัวใจที่โตผิดปกติ เป็นต้น


2.การถ่ายภาพรังสีทรวงอก

การถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือที่เรียกว่าเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูขนาดของห้องหัวใจและลักษณะของเส้นเลือดระหว่างหัวใจและปอด ว่ามีความผิดปกติหรือไม่


3.การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย

โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากอัตราชีพจร ระดับความดันโลหิตและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บันทึกตลอดเวลาขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย โดยให้ผู้ป่วยเดินบนพื้นเลื่อนหรือสายพาน หรือถีบจักรยาน โดยผู้ป่วยจะต้องออกกำลังกายเพิ่มขึ้นไปตามมาตรฐานของการทดสอบ ข้อมูลที่ได้จะบอกให้ทราบถึงสมรรถภาพการทำงานของร่างกายและหลอดเลือด ความสามารถในการออกกำลังกายของแต่ละบุคคล เป็นต้น


4.การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง

อาศัยหลักของคลื่นเสียงที่ส่งไปจากเครื่องมือที่วางอยู่ภายนอก เมื่อไปกระทบกับหัวใจจะสะท้อนกลับมา และเครื่องจะแปลงสัญญาณเสียงนั้นให้เป็นสัญญาณภาพปรากฏในจอรับภาพ เพื่อดูโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือด ทิศทางการไหลของเลือด ตลอดจนการเคลื่อนไหวและการบีบตัวของหัวใจว่าปกติหรือไม่ ความดันโลหิตเป็นอย่างไร เป็นต้น


5.การตรวจสวนหัวใจ

เป็นการฉีดสารทึบรังสีและถ่ายภาพรังสี เพื่อดูความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ศึกษาการไหลเวียนของเลือด วัดความดัน และวัดปริมาณออกซิเจนในห้องหัวใจ แพทย์จะตรวจด้วยวิธีนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการตรวจด้วยวิธีอื่นยังไม่เพียงพอ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสวนหัวใจจะบอกสภาวะของหลอดเลือดว่าตีบที่บริเวณใดและตีบกี่เส้น เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น